วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553
โบราณสถาน
ปราสาทอำเภอจอมพระ
จากการศึกษาทางโบราณคดีในเขตจังหวัดสุรินทร์ พบหลักฐานการอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งมีการใช้เครื่องมือเหล็กแล้ว มีอายุราว 2,500 - 1,500 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะทางตอนเหนือของจังหวัดแถบอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี โดยอาศัยกลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ และแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำชี โดยเฉพาะหลักฐาน ที่แสดงถึงประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 คือการนำกระดูกของผู้ตายมาใส่ภาชนะดินเผาแล้วนำไปฝังอีกครั้ง สันนิษฐานว่าประเพณีความเชื่อนี้เกิดจากการฝังศพ แบบนอนหงายเหยียดยาวก่อนแล้วจึงพัฒนาเป็นนำกระดูกใส่ภาชนะต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา จึงมีพิธีการเผาศพขึ้น กลุ่มชนในสมัยนี้มีเทคโนโลยีค่อนข้างสูงการใช้เครื่องมือเหล็ก ทำให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่อยู่อาศัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การขุดคูน้ำคันดินจัดระบบชลประทาน ซึ่งยังปรากฏให้เห็นในชุมชนโบราณกว่า 59 แห่ง โดยชุมชนมักจะตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ชุมชนโบราณบ้านสลักได อำเภอเมือง ชุมชนโบราณบ้านพระปืด กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ชุมชนโบราณบ้านปราสาททนง อำเภอปราสาท แหล่งโบราณคดีบ้านโนนสวรรค์ อำเภอชุมพลบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ บางแห่งยังปรากฎร่องรอยการเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาต่อมาด้วย
ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้รับการติดต่อกับผู้คนในที่ต่าง ๆ และเมื่อรับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสานเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 หรือราว 2,000 ปีมาแล้ว ก่อให้เกิดวัฒนธรรมในยุคประวัติศาสตร์ตอนต้อน บริเวณภาคกลางของประเทศไทย คือ วัฒนธรรมทวารดีที่นับถือศาสนาพุทธขึ้น และในระยะมาแพร่กระจายเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 พร้อม ๆ กับวัฒนธรรมขอมโบราณแห่งรัฐเจนละ ชุมชนวัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดสุรินทร์พบน้อยมากเนื่องจากบริเวณนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมขอมอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ ชุมชนโบราณบ้านตรึม อำเภอศรีขรภูมิ โนนสิมมาใหญ่ โนนสิมมาน้อย และบ้านไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี โดยพบใบเสมาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าใบเสมานี้ใช้ปักเพื่อแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา หรือสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่ควรเคารพ และถวายเป็นศาสนบูชา
ในขณะเดียวกัน จากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกับพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรขอมโบราณ ทำให้ชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ได้รับวัฒนธรรมขอมมาโดยตลอดตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่12 เป็นต้นมา โดยในช่วงแรก ได้พบหลักฐานเป็นแบบพนมดา (ราว พ.ศ.1100- 1150) ที่กิ่งอำเภอพนมดงรัก และจารึกวัดจุมพล พบที่วัดจุมพลสุทธาวาส อำเภอเมืองสุรินทร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 ราวพุทธศตวรรษที่ 13- 14 อาณาจักรขอม แยกเป็น 2 ส่วน คือ เจนละบก และเจนละน้ำ สำหรับเขตจังหวัดสุรินทร์ ดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเจนละบก ปรากฎชุมชนวัฒนธรรมขอมที่เก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จัดเป็นชุมชนระดับเมืองที่มีศาสนาสถานสำคัญ คือ ปราสาทภูมิโปน เป็นศูนย์กลาง ปราสาทดังกล่าวร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบไพรกเม็ง (ราว พ.ศ.1180 -1250)
อาณาจักรขอมรวมกันอีกครั้งในราวพุทธศตวรรษที่ 15 โดยมีศูนย์กลางที่เมืองพระนครหลักฐานวัฒนธรรมขอมในช่วงเวลานี้ ได้แก่ ปราสาทหมื่นชัย และปราสาทบ้านจารย์ อำเภอสังขะ ซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ (ราว พ.ศ.1465 - 1490) และพบจารึกในรัชกาลพระเจ้าราเชนทรวรมัน (ราว พ.ศ. 1487 - 1511) 1 หลัก ภายในบริเวณตัวเมืองสุรินทร์ หลักฐานการเป็นชุมชนในวัฒนธรรมขอมเพิ่มเติมจำนวนมากขึ้น ในราวกลางเช่น ปราสาทบ้านพลวง ปราสาทนางบัวตูม ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทศรีขรภูมิ และน่าจะรวมถึงเมืองสุรินทร์โบราณชั้นนอกด้วย ในต้นพุทธศตวรรษที่ 18 กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธศาสนาลักธิมหายาน มีหลักฐานที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกว่า พระองค์โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง(จารึกปราสาทพระขรรค์) และสร้างงอโรคยศาล หรือสถานพยาบาลขึ้นในชุมชนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก (จารึกปราสาทตาพรหม) ในจังหวัดสุรินทร์ได้พบสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ดังกล่าวหลายแห่ง เช่น ปราสาทจอมพระ ปราสาทช่างปี และปราสาทตาเมืองโต๊จเป็นต้น
หลักจากที่อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลงไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัดที่แสดงถึงการ อยู่อาศัยของชุมชนในสมัยต่อมา จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงปรากฏร่องรอยขึ้นอีกครั้งหนึ่งในพงศาวดารอีสาร ซึ่งกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2303 หัวหน้าชาวกูยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ได้ช่วยขุนนางจากราชสำนักคลองช้างเผือกแตกโรง มาจากกรุงศรีอยุธยากลับไปได้ ต่อมาภายหลังยังได้ส่งส่วยของป่าและรับราชการกับราชสำนัก จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระ และยกบ้านที่ปกครองขึ้นเป็นเมือง คือ เมืองขุขันธ์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองสุรินทร์ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง
ในสมัยการปาครองแบบเทศาภิบาล เมืองสุรินทร์อยู่ในเขตการปกครองของหัวเมืองลาวตะวันออกต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลลาวกาวและมณฑลอีสานตามลำดับ มีการส่งข้าหลวง มากำกับราชการจากส่วนกลาง เปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง จน พ.ศ. 2451 หลวงประเสริฐสุรินทบาล (เจ้าเมืองคนที่ 10 ) ถึงแก่อนิจกรรมเป็นสิ้นสุดการปกครองเมืองสุรินทร์ของเชื้อสายพระยาสุรินทร์ (ปุม) โดยส่วนกลางส่งข้าหลวงมาปกครองแทน และเมืองเปลี่ยนจากเมืองมาเป็นจังหวัด ได้ยุบเมืองต่าง ๆ ที่อยู่เขตจังหวัดสุรินทร์เป็นอำเภอดังเช่นปัจจุบัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น